จากเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ณ วันที่เกิดเหตุผู้คนต่างต้องหนีเอาตัวรอดจากอาคาร บ้านพักอาศัย สถานที่ทำงานของตนเอง เพราะกลัวว่าจะถล่มลงมาตามแรงสั่นสะเทือน การจราจรติดขัด รถไฟฟ้าต้องหยุดวิ่ง หลายคนต้องเดินจากที่ทำงานเพื่อกลับบ้านของตนเอง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของไทยที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ ผ่านมาอีกวันหลายคนไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในที่พักของตนเองได้ โดยเฉพาะคอนโดและอาคารสูงต่างๆ ที่ดูแล้วจะได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย ต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราวใหม่ เพราะไม่มั่นใจว่า คอนโดหรือตึกสูงที่พักอาศัยนั้นปลอดภัยพอจะเข้าไปอยู่อาศัยต่อได้มั้ย
จึงเกิดการตั้งคำถามและข้อสงสัยมากมาย ว่าจริงๆแล้วคอนโดและอาคารสูงมากมายในไทยนั้น มีความสามารถในการรอบรับแผ่นดินไหวได้หรือไม่ มีกฎหมายควบคุม หรือการออกแบบอะไรที่ป้องกันและรองรับแสงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหว ถ้ามองกันเรื่องความเสี่ยง อาคารที่สูงตั้งแต่ 15 ชั้นขึ้นไป แม้จะมีการสั่นไหวมากกว่าตึกเตี้ย แต่ไม่น่ากลัวถ้ามีการออกแบบที่รองรับการสั่วไหวไว้ ส่วนพวกบ้านชั้นเดียวไปจนถึง 6 ชั้นก็ไม่น่ากลัวเพราะการสั่นไหวจะมีน้อย ความเสียหายจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะต้องอยู่ใต้ หรือใกล้อาคารเหล่านั้นด้วยเท่านั้น ตึก 7 -15 ชั้น ที่ปลูกสร้างหลังปี 2550 หลังมีการออกกฏหมายบังคับเรื่องความแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวคงไม่มีปัญหา แต่ตึกที่สร้างก่อนหน้านั้น ก็น่ากังวลเนื่องจากความสูงมีไม่มาก ลมไม่แรง การคำนวณออกแบบเลยไม่ได้มีการเผื่อแรงลมที่มาปะทะตึกไว้ การควบคุมการก่อสร้างทำกันแบบง่ายๆ ไม่เข้มงวดเหมือนตึกที่สูงกว่านี้
ซึ่งกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้จาก 3 กรณี คือ
- แผ่นดินไหวในระดับ 7 – 7.5 ริคเตอร์ ในรอยเลื่อนจ.กาญจนบุรี ซึ่งมีระยะห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 200 กม.
- แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 ริคเตอร์ ในรอยเลื่อนสกายที่ผ่ากลางพม่าแล้วลงมาที่ทะเลอันดามัน ห่างจากรุงเทพฯประมาณ 400 กม.
- แผ่นดินไหวขนาด 8.5 – 9 ริคเตอร์ในแนวมุดตัวแถวหมู่เกาะอันดามันเหนือหมู่เกาะนิโคบา ห่างกรุงเทพฯประมาณ 600 กม.
การที่อาคารจะพังหรือไม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรริกเตอร์ แต่ขึ้นอยู่กับค่าแรงเฉือนทั้งหมดในแนวราบที่ระดับพื้นดินของโครงสร้าง
สำหรับแนวทางในการรับมือแผ่นดินไหว ไทยเราจะมีกฏหมายการก่อสร้างอาคารต้าน แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดและภาคตะวันตก (จ.กาญจนบุรี) ที่มีรอยเลื่อนสำคัญคือรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บังคับให้อาคารสูงที่เกินกว่า 15 เมตรต้องมีโครงสร้างป้องกันแผ่นดินไหว ประกาศใช้เมื่อปี 2540
ส่วนกรุงเทพมหานครบังคับใช้กฏหมายในปี 2550 โดยออกกฏกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้กฏกระทรวงฉบับนี้ คือ
พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นชั้นดินอ่อน ครอบคลุมถึง 14,000 ตร.กม. จึงส่งผลให้เกิดการขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้อาคารในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้บางส่วนของไทยตั้งอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งมีการสั่นสะเทือนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้อาคารในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว ประกอบกับหลักเกณฑ์การรับน้ำหนักความต้านทาน คงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่ครอบคุลมบริเวณเสี่ยงภัยดังกล่าว และไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงสมควรขยายพื้นที่การควบคุมดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับน้ำหนัก ความต้านทานความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเสียใหม่จึงจำเป็นต้องออกกฏกระทรวงนี้ สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือประเทศไทยเรามีกฎกระทรวงควบคุมอาคารเกี่ยวกับแผ่นดินไหว 2 ฉบับ ได้แก่
- กฎกระทรวงฉบับที่ 49 ปี 2540 กำหนดให้อาคารสูงเกินกว่า 15 เมตร ใน 10 จังหวัดต้องออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านแผ่นดินไหว ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีหรืออยู่ใกล้กับกลุ่มรอยเลื่อน มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้
- กฎกระทรวงฉบับที่ 129 ปี 2550 เพิ่มการบังคับใช้กับอาคารสูงเกินกว่า 15 เมตร ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งการออกแบบโครงสร้างอาคารหลังจากปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่สภาวิศวกรรับรองหรือที่จัดทำโดยส่วนราชการหรือนิติบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ วิศวกรควบคุม มีวิศวกรระดับวุฒิ สาขาวิศวกรรมโยธา เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและลงลายมือชื่อรับรองวิธีการคำนวณนั้น
สำหรับตึกเก่าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนปี พ.ศ.2550 ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการนำแบบแปลนก่อสร้างอาคารมาตรวจสอบ และป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองสภาวะแผ่นดินไหวขึ้นมาว่า โครงสร้างของอาคารส่วนใดบ้างที่เป็นจุดอ่อนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และตึกโยกคลอน
ซึ่งเมื่อแผ่นดินไหวจะไม่มีผลกระทบต่อเสาเข็มหรือฐานรากในส่วนที่อยู่ใต้ดิน เพราะมีดินช่วยอุ้มพยุงไว้ มีแต่ส่วนของอาคารที่อยู่เหนือดินเท่านั้นที่จะได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเสากับคานเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงก็ไม่สูงเพราะไม่ต้องทำทุกต้น ทำแค่บางจุดที่คอมพิวเตอร์คำนวณออกมาว่าเป็นจุดอ่อน รับแรงผลักจากแผ่นดินไหวไม่ได้ ด้วยการนำเหล็กมาค้ำยันเสริมความแข็งแรงให้มากกว่าปกติ
โดยล่าสุด สมาคมอาคารชุดไทย นำโดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า มาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงของไทยรองรับแผ่นดินไหว การก่อสร้างอาคารสูงทุกอาคารในประเทศไทยหลังปี 2550 ต้องก่อสร้างตามมาตรฐานการก่อสร้างเพื่อ รองรับแผ่นดินไหว ทำให้อาคารสูง ทั้งคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานไม่พังลงเป็นอันตรายแก่ชีวิตคนในอาคาร มีแต่ความเสียหายในวงจำกัด เช่น กระเบื้อง/หินอ่อน หลุดร่อนออก หรือผนังแตกร้าวมาจากแผ่นดินไหว, ฝ้าบางจุดหลุดหล่น หรือความเสียหายกับโครงสร้างอาคารบางส่วน แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงวิบัติพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดนี้ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แสดงถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงของไทยจากบททดสอบแผ่นดินไหวสูงถึง ระดับ 8.2 เป็นระดับสูงสุดที่มีมาในประเทศไทย ว่าการก่อสร้างตึกสูงของไทยได้มาตรฐานจริงๆ โดยไม่มีตึกใดเลยที่เปิดใช้อาคารแล้ว มีการพังลงมากระทบต่อชีวิตผู้ใช้อาคารแม้แต่ตึกเดียวในครั้งนี้ หลังจากนี้ แต่ละอาคารคงต้องเข้าตรวจสอบความเสียหายของอาคาร ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวทุกแห่ง เพื่อเข้าซ่อมแชมส่วนที่ชำรุดและเสียหาย ให้เกิดความปลอดภัยรวมถึงสร้างความมั่นใจของผู้ใช้อาคารต่อไป
แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเป็นภัยธรรมชาติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แเต่เราสามารถเตรียมพร้อมจะรับมือและป้องกันได้ และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมานี้ หลายๆหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐ คงจะต้องพิจารณาปรับปรุงข้อบังคับและกฎหมายเพื่อให้อาคารต่างๆที่จะสร้างใหม่สามารถรองรับภัยธรรมชาติในลักษณะนี้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบก็ควรพิจารณาในการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยจากประเทศที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวเข้ามาใช้ในการก่อสร้างด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานและอยู่อาศัยในอนาคตต่อไป